พระครูสมุทรรัตนวัฒน์ (เกษม อาภสฺสโร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ
พระครูสมุทรรัตนวัฒน์ (เกษม อาภสฺสโร) นามสกุล แก้วสมภักดิ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2469 ตรงวันขึ้น 11 ค่ำ ปีขาล บิดาชื่อ นายเขียน แก้วสมภักดิ์ อดีตเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 (เดิม) ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มารดาชื่อ นางพูน แก้วสมภักดิ์ มีอาชีพทำนาและทำสวน มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 3 คน คือ
1.นายพิศ แก้วสมภักดิ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) เมื่อ พ.ศ.2512
2.พระครูสมุทรรัตนวัฒน์ (เกษม อาภสฺสโร) (ถึงแก่มรณภาพ 21 พฤศจิกายน 2553)
3.นางจิ๋ว ช่วงกลั่น (ถึงแก่กรรมแล้ว) เมื่อ พ.ศ.2523
4.และนางบุญช่วย ปานะสูตร (ซึ่งโยมขอลูกคนจีนมาเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่อายุได้ 14 วัน)
การศึกษา
ในวัยเยาว์เมื่ออายุถึงเกณฑ์ได้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนประชาบาลวัดประดู่ (ประดู่ศิลกศิลป์) ตั้งแต่อายุ 9 ขวบถึง 14 ขวบ จบแค่ชั้นประถม 1 อายุ 15 ปี ก็หมดเกณฑ์เรียน ได้ออกจากโรงเรียนช่วยบิดามารดาทำสวนผักและสวนมะพร้าวจน พ.ศ.2484 อายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟงานศพของปู่ โดยมีพระครูเปลี่ยน สุวณฺณโชโต วัดแก้วเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาอยู่ 7 เดือน ได้ลาสิกขาบทออกมาหัดประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว ช่างไม้ ดนตรี (แตรวง) ตลอดจนค้าขาย เพื่อหารายได้ช่วยเหลือบุพการีอีกส่วนหนึ่ง
การบรรพชา อุปสมบท
เมื่ออายุได้ 29 ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2499 เวลาบ่าย 2 โมงเศษ ณ พัทธสีมาวัดแก้วเจริญ มีพระเดชพระคุณพระครูสุนทรธรรมกิจ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ พระครูเอี้ยง สุวณฺณปทุโม เจ้าอาวาสวัดประดู่ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอาจารย์ปลั่ง ฐิตจิตฺโต วัดแก้วเจริญ เป็นพระอนุศาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษา ณ วัดประดู่ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเวลา 10 พรรษา จึงลาสิกขาบทด้วยต้องออกมาดูแลโยมบิดาซึ่งชรามาก ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่หยอด ได้อุตส่าห์นั่งเรือจ้างมาทัดทานการลาสิกขาบท โดยชักชวนให้ไปอยู่วัดแก้วเจริญด้วย แต่ไม่อาจทัดทานความประสงค์ของท่านได้ เมื่อลาจากเพศบรรพชิตแล้ว ได้มาดูแลปรนนิบัติบิดา และประกอบอาชีพ
ช่างไม้กับพี่ชาย และทำสวนของตนเอง
ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2510 พระเดชพระคุณหลวงปู่หยอด ได้ส่งคนนั่งเรือไปตามท่านให้มาธุระที่วัดแก้วเจริญ เมื่อพบกับ พระเดชพระคุณก็บอกเหตุที่ไปรับมาเพื่อให้บวชเป็นพระ และเป็นกำลังของวัดต่อไป แต่ท่านได้ตอบปฏิเสธด้วยเพิ่งลาสิกขาบทมาได้ 1 ปี จักเป็นที่ครหา ของคนทั่วไปว่าอาศัยผ้าเหลืองหากินพระเดชพระคุณหลวงปู่ไม่ยอมลดละ พร้อมชี้แจงว่า เรามีความรู้ มีความสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ สอนปริยัติธรรม ได้ งานก่อสร้างก็ได้ นำสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ก็ได้ เรามาทำดีจะต้องกลัวข้อครหาทำไม หลวงปู่เชิญชวนพร้อมยกเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่บ่าย 3 โมงถึง 6 โมงเย็น ท่านจึงใจอ่อนยอมอุปสมบทอีก พระเดชพระคุณจึงลุกขึ้นเคาะระฆังให้สัญญาณพระลงสู่อุโบสถ และให้ท่านปลงผมหน้าพระอุโบสถ แล้วเข้าพิธีอุปสมบท มีพระเดชพระคุณหลวงปู่หยอด เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ พระอาจารย์ปลั่ง ฐิตจิตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สุชิน อิสญาโณ เป็นพระอนุศาวนาจารย์ และจำพรรษา ณ วัดแจ้วเจริญจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
การศึกษาพระธรรมวินัย
- พ.ศ.2499 สอบได้ความรู้นักธรรมชั้นตรี สอบภาคสนามหลวง วัดบางนางลี่ใหญ่
- พ.ศ.2500 สอบได้ความรู้นักธรรมชั้นโท สอบภาคสนามหลวง วัดบางนางลี่ใหญ่
- พ.ศ.2501 สอบได้ความรู้นักธรรมชั้นเอก สอบภาคสนามหลวง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
- พ.ศ.2503 สอบความรู้ทรงจำพระปาฏิโมกข์ได้ จากวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
งานการสอนปริยัติธรรม
- พ.ศ.2500 ได้เป็นครูสอนนักเรียนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดประดู่ ตลอดทุกปีที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดนั้น
- พ.ศ.2510 เป็นครูสอนนักเรียนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดแก้วเจริญ เป็นประจำทุกพรรษา
- พ.ศ.2512 เป็นสอนธรรมศึกษาให้กับนักเรียนมัธยม ร.ร.อำนวยวิทย์ จนถึง พ.ศ.2517
- พ.ศ.2518 ไปสอนนักเรียนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดประดู่อีก ๑ พรรษา
- พ.ศ.2519 กลับมาทำการสอนนักเรียนพระปริยัติธรรม ยังสำนักเรียนวัดแก้วเจริญตามเดิม
การอบรมแต่งตั้ง
- พ.ศ.2501 ไปรับการอบรมหาความรู้ ส.อ.ส. ที่หอประชุมวัดสามพระยา ก.ท.ม. รวม 15 วัน
- พ.ศ.2505 เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาครูปริยัติธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม
- พ.ศ.2506 เข้ารับการอบรมเป็นกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ.2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ 1 ปี
- พ.ศ.2540 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ
งานสาธารณูปการ
นับแต่ได้สอบพระปริยัติธรรมชั้นเอก และสอบความรู้พระปาฎิโมกข์ได้เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มช่วยงานการก่อสร้างบูรณะวัดประดู่ ดังนี้
- พ.ศ.2503 รับหน้าที่เป็นภัณฑาคาริก (ดูแลรักษาคลังพัสดุ) ของวัดประดู่
- พ.ศ.2505 ทำการบูรณะพื้นชานกุฎิสงฆ์ ที่ชำรุดทรุดโทรม และทำการรื้อกุดังที่เก็บศพ ย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ ด้านหลังสุดที่ของวัด
- พ.ศ.2506 คณะกรรมการของวัดให้ช่วยทำการก่อสร้างอุโบสถของวัด ที่ยังก่อสร้างค้างอยู่ให้ลุล่วงต่อไป จึงลงมือทำการก่อสร้างต่อจากที่ต่างอยู่ เดิม จนสำเร็จไปด้วยดี ปี พ.ศ.2508
- พ.ศ.2510 ได้ช่วยทางวัดแก้วเจริญรื้อกุฏิสงฆ์เก่าๆ 2 หลัง เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิมโดยร่วมกับช่างไม้ที่ทำอยู่ก่อน
- พ.ศ.2511 ร่วมดูแลช่างเทเสาศาลาฌาปนสถานของวัดแก้วเจริญ
- พ.ศ.2512 ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของทางราชการเข้าสู่วัด จึงจัดกากรเดินสายไฟฟ้าภายในวัดทั่วทุกอาคารและติดตั้งดวงไฟ พร้อมพร้อมพัดลมเป็นที่ เรียบร้อย
- พ.ศ.2513 จัดทำการก่อสร้างห้องน้ำของสงฆ์ รวม 2 ห้อง โดยนายเล้ง สุภานนท์ เป็นเจ้าภาพบริจาคปัจจัยก่อสร้าง เสร็จแล้วจัดต่อท่อน้ำ และสร้างถังส่งน้ำใช้ภายในวัดทั่วไป
- พ.ศ.2514 ช่วยช่างทำการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่า ย้ายไปทำการก่อสร้างที่ใหม่แบบทรงไทยที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
- พ.ศ.2515 ดูแลงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้รถและประชาชนเดินข้ามคลองประดู่ ได้สะดวกสบายจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
- พ.ศ.2516 ท่านพระครูสุนทรธรรมกิจ (หลวงปู่หยอด) ส่งให้ไปช่วยบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ของวัดประดู่ที่ชำรุดทรุดโทรม ทำการรื้อเพื่อก่อสร้าง ขึ้นใหม่ โดยบอกว่าให้เห็นแก่บ้านเกิดของเรา และเพื่อพระพุทธศาสนากับอนุชนที่มาภายหลังท่านจึงรับตกลงไปทำ ดังนั้นพอฉันภัตตาหารเช้าแล้วก็ต้อง เดินทางด้วยเท้า ไปทำงานก่อสร้างกุฏิสงฆ์ที่วัดประดู่ เพราะตอนนั้นการคมนาคมทางรถยังไม่มี ทำการก่อสร้างกุฏิสงฆ์แบบทรงไทยได้ 1 แถว รวม 14 ห้อง ห้องน้ำพระสงฆ์ 1 หลัง รวม 4 ห้อง ด้วยทุนทรัพย์ของโยมป้าเช้า รอดเยี่ยม ซึ่งเป็นพี่สาวโยมของท่าน และก่อสร้างหอภัตตาหารสงฆ์ อีกครึ่งแถวยาว รวม 7 ห้อง ทำอยู่เวลาประมาณ 2 ปี จึงหยุดพักการก่อสร้างในระหว่างที่ทำการก่อสร้างอยู่นี้ พอเย็นเลิกงานเดินทางกลับวัดแก้วเจริญ พอเวลาประมาณ 17.00 น. ต้องทำการสอนนักเรียนปริยัติธรรม ภายในพรรษากาลด้วย
- พ.ศ.2518 ในระยะเข้าพรรษาปีนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้จัดส่งให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ อยู่ 1 ปี จนถึง พ.ศ.2519 จึงกลับมา จำพรรษาที่วัดแก้วเจริญ
- พ.ศ.2520 ท่านพระครูสุนทรธรรมกิจ ท่านดำริจะก่อสร้างอุโบสถใหม่ เพราะอุโบสถหลังเก่าฝาผนังแตกร้าวชำรุดทรุดโทรม ดังนั้นท่านจึงให้นาย ช่างศรี สุวรรณดารา วางรูปเป็นอุโบสถสองชั้นแบบทรงไทย มีเสาหารรอบ เมื่อนายช่างศรีวางรูปแบบแล้วจึงมอบให้ท่านควบคุมจัดการก่อสร้าง จึงจัดการ หล่อเสาเข็มก่อน เสร็จแล้วจึงจัดการรื้อกำแพงรอบอุโบสถ รื้อตัวอาคารอุโบสถภายหลัง แล้วจึงทำผนังอุโบสถหลังใหม่ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ
ปรินายก (วาสน) เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ ลงมือทำการก่อสร้างดำเนินงานโดยใช้แรงงานพระภิกษุสามเณรเป็นส่วนใหญ่ในระหว่าง ทำการก่อสร้างอุโบสถ
อยู่นี้ ท่านได้เข้าสนทนากับพระเดชพระคุณอยู่เป็นประจำ ในเวลาค่ำคืนเพื่อปรึกษาหารือการก่อสร้าง และเรื่องอื่นๆ พระเดชพระคุณ จะสอนให้ปฏิบัติ
และ
กระทำ โดยไม่ปิดบังอำพรางความรู้ทำการก่อสร้างอุโบสถจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถึง พ.ศ.2528
- พ.ศ.2531 พระเดชพระคุณมอบให้ท่านจัดการก่อสร้างห้องสมุด ประจำอำเภออัมพวาขึ้น เมื่อจัดการไปซื้อเสาเข็มเป็นที่เรียบร้อย จึงกำหนดวาง ศิลาฤกษ์และตอกเสาเข็ม แล้วเริ่มการก่อสร้าง โดยท่านเป็นผู้อำนวยการด้วยตัวเอง จนงานก่อสร้างสำเร็จเป็นห้องสมุดประจำอำเภออัมพวา จังหวัด สมุทรสงคราม
ในปี พ.ศ.2532 เป็นที่เรียบร้อย
- พ.ศ.2533 มีคุณโยมจินต์ อาจารย์ประไพ จินตแสวง ก.ท.ม. ได้ถวายบ้านทรงไทยป้านหยากับหลวงปู่หยอด 1 หลัง ซึ่งปลูกอยู่ตรงข้ามหน้าวัด ท่านจึงชักชวนพระภิกษุหนุ่มๆ ภายในวัดไปทำการรื้อถอนเอามาวัด แล้วทำการปลูกสร้างเป็นกุฏิสงฆ์ทรงรูปแบบของเดิมจนเสร็จเรียบร้อย เจ้าของบ้านมา เห็นแล้วพอใจมาก ต่อจากนั้นจึงทำการรื้อกุฏิของหลวงพ่อที่ท่านอยู่ประจำ เพระว่าได้ปลูกสร้างมานานจึงชำรุดทรุดโทรมมาก เพื่อปรับปรุงใหม่แต่ให้อยู่ ในรูปทรงของเดิม และต่อเติมบ้างเป็นบางส่วนพอได้วันกำหนดฤกษ์ของหลวงปู่หยอดแล้ว จึงกระทำพิธีวางศิลาฤกษ์เวลาเช้า ช่วงเวลาดวงพระอาทิตย์ขึ้นพอดี พอพระเดชพระคุณเริ่มเอาเสาเข็มฤกษ์ลงปักก้นหลุม ฝนตกลงมาหนักมากจนพระเดชพระคุณเปียกปอน พระจึงวิ่งไปเอาร่มมากางกันฝนให้ เมื่อกระทำพิธี ของท่านเสร็จแล้วจึงดำเนินการก่อสร้างรวมกับนายช่างสมจิตร บำรุงราษฏร์ (ช่างหลอย) ช่างผู้ชำนาญแบบทรงไทยเดิม ทำการปลูกสร้างจนสำเร็จ เสร็จทันงานทำบุญอายุ 80 ปี ของพระครูสุนทรธรรมกิจ (หลวงปู่หยอด ชินวํโส) ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2534
- พ.ศ.2539 วันที่ 20 มกราคม หลวงปู่หยอด ชินวํโส ได้มอบงานบริหารกิจการดูแลวัด และการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ พร้อมหอพระครูสุนทรธรรมกิจ ราษฏร์รังสรรค์ ที่ยังก่อสร้างค้างอยู่ให้ทำต่อให้สำเร็จลุล่วงไปท่านจึงจัดการกระทำต่อจนสำเร็จเรียบร้อย
- พ.ศ.2540 พระเดชพระคุณท่านพระครูสุนทรธรรมกิจ (หลวงปู่หยอด ชันวํโส) ท่านอาพาธหนักต้องพักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลพยาไท ๑ ไม่ม ีโอกาสกลับมาบริหารงานของวัดเหมือนอย่างเดิมได้ พอถึงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2540 ท่านจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการ เจ้าอาวาส
วัดแก้วเจริญ
แทนท่าน พอถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2541 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล เวลา 18.18 น. พระเดชพระคุณ
พระครูสุนทรธรรมกิจ
ท่านก็มรณภาพ
ละสังขาร ณ โรงพยาบาลพยาไท 1
- พ.ศ.2541 ท่านได้จัดสร้างห้องน้ำพระสงฆ์ขึ้นอีก 1 หลัง รวม 8 ห้อง เป็นแบบไทย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กถือปูน มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ดินเผาเคลือบ ปูพื้นและฝาผนังด้วยกระเบื้องเคลือบเซรามิค จนสำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.2542 และยังจัดการปูกระเบื้องชานรอบอุโบสถ ที่ของเดิมเพียง แต่ฉาบปูนขัดมันไว้ธรรมดาเท่านั้น
การอนุรักษ์วัตถุมงคล " หลวงปู่หยอด ชินวํโส "
พระเกษม อาภสฺสโร ได้เก็บรวบรวมวัตถุมงคล ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของวัตถุมงคลที่พระเดชพระคุณหลวงปู่หยอด จัดสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2496 ตามแนวแห่งหลวงปู่ใจ อินฺทสุวณฺโณ ที่มุ่งหวังให้วัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดจิตใจให้มั่นในการทำความดี ทำกุศล ด้วยความไม่ประมาท
และเพื่อบรรลุตามสิ่ง
ที่มุ่งหวัง จึงได้มีวัตถุมงคลเป็นอนุสรณ์มาโดยลำดับ สามารถจัดรวมเป็นทำเนียบไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของอนุชนรุ่นหลังสืบไป
:: ขอขอบคุณ พี่ดำ / บอม วัดแก้วฯ และคณะศิษย์วัดแก้วเจริญ ทุกท่าน...ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล ::