หน้าแรก... ประวัติวัดแก้วเจริญ... กิจกรรมภายในวัด... ติดต่อเรา...


 
ประวัติความของเป็นมาวัดแก้วเจริญ
 
ประวัติหลวงปู่หยอด  ชินวํโส
 
หนังสือชีวิตและผลงานหลวงปู่หยอดฯ
 
เปิดบันทึกตำนาน " หลวงปู่หยอดฯ "
 
คติธรรม / คำสอน
 
ประวัติเจ้าอาวาส (พระครูสมุห์คำนวณฯ)  
 
ทัศนียภาพภายในวัด  
 
ภาพถ่ายวัดแก้วเจริญ สมัยเก่า
 
กิจกรรม / แจ้งข่าวของทางวัด 
 
ติดต่อเราและแผนที่ / Facebook
 
 

 
วัตถุมงคลเนื้อผงรุ่นแรก ปี 2497 
 
ภาพวัตถุมงคลของหลวงปู่หยอดฯ
 
วัตถุมงคลของ พระครูสมุห์คำนวณฯ
 พระผงปิดตาโภคทรัพย์รุ่นแรก  
 ตะกรุดมหาปราบพอกผงมหาระงับ
 ตะกรุดสาริการัญจวน / สาริกาจันทร์เพ็ญ
 ล็อกเก็ตพระครูสมุห์คำนวณฯ
   - ล็อกเก็ตนั่งเต็มองค์รุ่นแรก  
   - ล็อกเก็ตครึ่งองค์รุ่นแรก
   - ล็อกเก็ตครึ่งองค์ฉากสีชมพู
 ตะกรุดโลกธาตุ / โลกธาตุจัมโบ้
 ตะกรุดโลกธาตุใบลานสีประจำวันเกิด
 ตะกรุดกันภัยแปดทิศ  
 ตะกรุดมหากัน / ทรัพย์เศรษฐี
 วัตถุมงคลอื่นๆ  


 
 ภูมิปัญญาชาวบ้าน " หมอรักษาโรคฯ "
 
 คลองเสด็จประพาสต้น
 
 วัตถุโบราณเพื่อชนรุ่นหลังได้ศึกษา
 
 แหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เรือโบราณ
 
 Link แนะนำ ...
 
 


 

ภาพพระอุโบสถ์หลังเก่าในอดีตของวัดแก้วเจริญ ก่อนที่จะสร้างพระอุโบสถ์หลังใหม่

      

             ที่ตั้งวัด
             วัดแก้วเจริญ เป็นอารามราษฎร์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ 10 ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ริมฝั่งขวาแห่งลำแม่น้ำอ้อม(คลองแควอ้อม) ติดกับปากคลองประดู่ที่ตั้งวัดนี้ เดิมเป็นหมู่บ้านที่ 1 ตำบลหัวลาด อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มณฑลราชบุรี
            วัดนี้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.2375 ชื่อว่า " วัดแก้วเจริญ " และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2529 มีใบเสมาคู่ คงจะทำพิธีผูกพัทธสีมา 2 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่ากระทำสมัยใด สันนิษฐานว่าน่าจะผูกพัทธสีมา ซ้ำในสมัยที่ปฏิสังขรณ์อุโบสถเรียบร้อยแล้ว
             จังหวัดสมุทรสงครามมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีความศักดิ์สิทธิ์เชี่ยวชาญอภิญญาอยู่หลายรูป เป็นที่เคารพนับถือ มาจนทุกวันนี้ ได้แก่ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม , พลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี , หลวงพ่อสาย วัดจันทร์เจริญสุข , หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ และหลวงปู่หยอด วัดแก้วเจริญ (สรีระยังบรรจุภายในโลงแก้วไว้ให้ประชาชน ได้กราบไหว้บูชา)
             พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 เคยเสด็จประพาสวัดแก้วเจริญ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2447 โดยแวะซื้อเสบียงและทอดพระเนตรลิเก ปัจจุบันนี้วัดแก้วเจริญก็ยังเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในด้านการป่วยไข้ ด้วยมีพระหมอโรคกระดูกมีชื่อเสียง ประชาชนเดินทางไปหาจำนวนมากทุกวัน (หลวงตาปลั่งมรณภาพไปแล้ว ปัจจุบันศิษย์หลวงตาปลั่งดำเนินการต่อมา)

      

             อาณาเขตและอุปจาระของวัด
             ด้านหน้าวัดทางทิศเหนือจดลำแม่น้ำแควอ้อมยาว 6 เส้น  10 วา   ทิศตะวัดออกจดคูวัดยาว 4 เส้น 12 วา   ทิศใต้จดคูวัดยาว 3 เส้น 4 วา   ทิศตะวันตกจด
คลองประดู่ ยาว 5 เส้น 6 วา

             ลำดับเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
             1.พระอธิการต่าย
             2.พระอธิการแย้ม
             3.พระอธิการฟัก
             4.พระอธิการคง
             5.พระอธิการเปลี่ยน
             6.พระครูสุนทรธรรมกิจ (หลวงปู่หยอด ชินวํโส) รายละเอียดเพิ่มเติม...
             7.พระครูสมุทรรัตนวัฒน์ (หลวงปู่ปาน) รายละเอียดเพิ่มเติม...
             8.พระครูสมุห์คำนวณ ปริสุทฺโธ รายละเอียดเพิ่มเติม...

             ประวัติความเป็นมา
             วัดแก้วเจริญ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และมีนามเดิม ชื่อว่าวัดอะไร เพราะได้รกร้างมาเป็นเวลานาน มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยาได้อพยพหลบภัยพม่าเมื่อเสียกรุง พ.ศ.2310 มาถึงสถานที่แห่งนี้แลเห็นทำเลเหมาะ จึงช่วยกันแผ้วถางจากริมคลองประดู่เข้าไป เพื่อจะสร้างบ้านเรือนอยู่ เมื่อแผ้วถางป่า ลึกเข้าไปประมาณ 3 เส้น ก็พบว่าเป็นวัดร้าง มีซากอุโบสถพระพุทธรูปศิลาแดง ปางต่าง ๆ มากมาย และพระพุทธรูป สร้างด้วยแก้ว ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มากในกาลต่อมา มีใบเสมารอบอุโบสถพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ไม่มีผ้าพาด ซึ่งเรียกว่า พระกรวย อยู่เป็นอันมาก (ปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่เลย) และมีเจดีย์รามัญ 2 องค์ ชำรุดหักพังอยู่ จึงทราบว่าเป็นอารามร้างไม่เหมาะจะสร้างสถานที่อยู่อาศัย จึงพา กันข้ามคลองประดู่ไปแผ้วถางสถานที่แห่งใหม่ ห่างจากวัด ประมาณ 5 เส้น หมู่บ้านท่าใหญ่ ตามชื่อเดิมของผู้อพยพมายังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

             ยุคพระอธิการต่ายเป็นเจ้าอาวาส
             เนื่องจากผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ที่เป็นคนแรกนั้นสืบไม่ได้ความชัดว่าเป็นผู้ใดสืบได้เพียงว่าพระอธิการต่าย ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ราว พ.ศ.2340 ในระหว่าง นี้มีกุฏิมุงจากฝากระแชงอ่อนเพียง 2 หลัง พระอุโบสถก็ยังมิได้จัดการปฏิสังขรณ์ คงปล่อยให้พระพุทธรูปประดิษฐานตากแดดตากฝนอยู่เช่นเดิม แต่พระพุทธรูป ที่สร้างด้วยแก้วนั้นเล่ากันว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเป็นปูชนีย์วัตถุอันสำคัญ ใครจะมาบนบานอย่างไรย่อมสมความปรารถนา จึงพากัน ขนานนามวัดนี้ว่า " วัดแก้ว " ตั้งแต่นั้นมา โดยถือว่ามีพระแก้วเป็นศุภนิมิตรมงคล ต่อมาเห็นว่าพระพุทธปฏิมากรที่สร้างด้วยแก้วนี้เป็นของเล็ก เกรงโจรภัย เนื่องจากอุโบสถไม่มีฝาผนังและหลังคาดังกล่าวแล้ว เจ้าอาวาสพร้อมด้วยทายกทายิกาผู้มีศรัทธาปรึกษากันถึงเรื่องพระแก้วว่าจะเก็บรักษาไว้ที่ใดจึงจะ ปลอดภัย ต่างเห็นพร้อมกันว่าควรฝังไว้ที่ใต้ชุกชี เมื่อตกลงเห็นพร้อมกันเช่นนี้จึงได้จัดการฝังพระแก้วไว้ตามคำเล่ามานี้มีเหตุผลที่ควรฟังได้โดยคนโบราณ นิยมการฝังทรัพย์ที่มีค่าไว้ใต้แผ่นดิน
             อนึ่งวัดนี้คงจะได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา 2 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่ากระทำสมัยใด ทั้งนี้มีข้อสังเกตได้จากใบสีมารอบพระอุโบสถที่ปักใบสีมา 2 แผ่นซ้อนกัน ทุกทิศ เข้าใจว่าเดิมคงปักใบสีมาแผ่นเดียวเหมือนกันเหมด แต่ที่ปรากฏปักไว้ 2 แผ่นนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นด้วยพระสงฆ์ลังกาวงศ์เข้ามาตั้งรังเกียจ สมณวงศ์ ในประเทศไทย จึงรังเกียจสีมาที่สงฆ์ไทยได้ผูกไว้ ไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วม เช่นอุปสมบทกรรมเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ ลังกาวงศ์ประกอบพิธีผูกสีมาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสะดวกแก่การทำสังฆกรรมได้ทั้งพระสงฆ์ลังกาวงศ์และพระสงฆ์นิกายเดิม วัดใดที่ผูกพัทธสีมาซ้ำแล้วจึง ได้ปักใบสีมาเพิ่มขึ้นเป็น 2 แผ่นเป็นสำคัญ ถ้าหากมิใช่เพราะเหตุนี้ก็คงจะผูกซ้ำในสมัยที่ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเรียบร้อย หลังจากที่เป็นวัดสร้างมาสมัยหนึ่ง ดังกล่าวแล้วซึ่งพระอธิการต่ายถึงแก่มรณะภาพลงราว พ.ศ.2382

              ยุคพระอธิการแย้มเป็นเจ้าอาวาส
             หลังจากพระอธิการต่ายมรณะภาพ ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง 5 ปี ถึง พ.ศ.2388 พระภิกษุแย้ม ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสต่อมาจนถึงราว พ.ศ.2404 พระอธิการแย้มก็ลาสิกขาบท ในระหว่างนี้ไม่มีการก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดเลย ครั้นพระอธิการแย้มลาสิกขาบทแล้ว ตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลงอีกราว 4 ปี

              ยุคพระอธิการฟักเป็นเจ้าอาวาส
             พระภิกษุฟัก บ้านเดิมอยู่ศาลาเขื่อน จังหวัดเพชรบุรี ทายกทายิกาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณวัดแก้ว จึงได้ไปอาราธนาพระภิกษุฟักมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อพระภิกษุฟักได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว จึงจัดการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่ ประกอบกับท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในนวกรรม ทายกทายิกาจึงเต็มใจช่วยเหลือ อย่างเข้มแข็ง การปฏิสังขรณ์ที่ควรยกขึ้นมากล่าวสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส คือ
              1.จัดการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยตั้งเตาเผาอิฐและกระเบื้องสำหรับมุงหลังคาเอง  ส่วนตัวไม้ที่ใช้ปฏิสังขรณ์ก็จัดการล่องซุงมาเลื่อย และปรุงเอง
เสร็จ  จัดการก่อฝาผนังอุโบสถด้วยอิฐถือปูน กว้าง 4 วา 1 คืบ ยาว 9 วา 2 ศอก สูง 4 วา 1 คืบ หลังคาเหยียบมุข 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผามีช่อฟ้าใบระกา พร้อม
ทั้งการปฏิสังขรณ์ชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธประธานและพระพุทธรูป ได้จัดการปิดทองพระพุทธประธานและพระพุทธรูปทั้งในและนอกอุโบสถ  นับว่าการ
ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยในสมัยที่พระอธิการฟักเป็นเจ้าอาวาสราว พ.ศ.2425
              2.จัดการสร้างกำแพงก่ออิฐถือปูนรอบพระอุโบสถ  ยาว 1 เส้น กว้าง 15 วา สูง 3 ศอก   มีซุ้มประตู 3 ซุ้ม    และทุกซุ้มทำเป็นหน้าบันก่ออิฐ ถือปูน ประดับ ด้วยจานโบราณ
              3.สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง ยาว 7 วา ศอก 1 คืบ  กว้าง 6 วา 3 ศอก 1 คืบ   เสาไม้มะค่า พื้น ฝา    เครื่องบน เพดานไม้สักล้วน มุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา เพดานเขียนเป็นรูปดวงพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงราหู และภาพเทพบุตร เทพธิดา คอสองเขียนภาพพุทธประวัติดำเนินตามตำนาน พระปฐม สมโพธิตั้งแต่ต้นจนตลอดเรื่อง กับสร้างธรรมาสน์แบบบุษบกอีก 2 ธรรมาสน์สำหรับภิกษุแสดงพระธรรมเทศนา
              4.สร้างหอเจริญพระพุทธมนต์ 1 หลังกว้าง 3 วา 1 ศอก 1 คืบ ยาว 5 วา 1 คืบ เสาไม้เต็งรัง รอดไม้แดง นอกนั้นไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง (หอสวดมนต์หลังนี้รื้อย้ายไปไว้หลังวัด เพื่อเอาที่สร้างตึกพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2492)
              5.สร้างหอระฆังจัตุรมุขหลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจกพร้อมกับสร้างระฆังแขวนไว้ในหอระฆังด้วย (รื้อเอาที่ดิน สร้าง ตึก ปริยัติธรรม พ.ศ.2492 และมิได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมขึ้นใหม่ เพราะอุปกรณ์ทุกส่วนชำรุดมาก)
              6.สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก 4 หลัง ซึ่งเดิมมีเพียง 2 หลัง รวมเป็น 6 หลัง แต่กุฏิทุกหลังมุงด้วยจากทั้งสิ้น (เปลี่ยนมุงกระเบื้องสมัย ท่านพระครูเปลี่ยน เป็น
เจ้าอาวาสหมดทุกหลัง)
              7.สร้างศาลาท่าน้ำสำหรับเป็นทางขึ้นกุฏิ 2 หลัง ขึ้นศาลาการเปรียญ 1 หลัง กับไว้ทางหลังวัดติดกับคลองประดู่อีก 1 หลัง ทุกหลังสร้างแบบทรง ไทยโบราณ
              8.สร้างถนนก่ออิฐถือปูนสำหรับขึ้นกุฏิ 1 สาย ไปพระอุโบสถ 1 สาย ไปศาลาการเปรียญ 1 สาย และไปสุสานสถาน 1 สาย
              9.สร้างธรรมาสน์จมูกสิงห์ไว้ในพระอุโบสถ สำหรับนั่งสวดพระปาฏิโมกข์ 1 ธรรมาสน์
              10.สร้างคัมภีร์เทศนาจารึกด้วยอักษรขอมไว้เป็นอันมาก อาทิเช่น พระภิกขุปาฏิโมกข์ พระอภิธรรม 8 คัมภีร์ พระอภิธรรมมัตถสังคหะ พระปฐมสม โพธิกถา จริยาปิฎกเถรคาถา เถรีคาถา พระมาลัยสูตร ฎีกาพาหุง โตรโลกวิตถาร ไตรโลกพิสดาร มิลินทปัญหา วิมานวัตถุ เปตวัตถุ พระธรรมบทขุทกปาฐพระ
พุทธวงศ์ กับคัมภีร์อื่นๆ อีกมาก นอกจากคัมภีร์ใบลานแล้ว ยังมีตำรับตำราสมุดข่อยอีกมาก นับว่าในยุคพระอธิการฟักเป็นเจ้าอาวาสวัดได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดย
ลำดับทั้งในส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งในส่วนการศึกษาเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานแห่งความวัฒนาให้แก่วัด ครั้นถึง พ.ศ. 2453 พระอธิการฟัก ถึง
แก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา

              ยุคพระอธิการคงเป็นเจ้าอาวาส
              หลังจากพระอธิการฟักถึงแก่มรณภาพ พระภิกษุคง ชาติภูมิอยู่ที่บ้านท่าใหญ่ ในคลองประดู่ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา การก่อสร้างปฏิสัง-
ขรณ์ในสมัยของท่าน คือ
              1.นายปลั่ง นางโหมด บุญศรี ซื้อเรือนฝากระดานขนาดใหญ่มาปลูกถวายเป็นหอเจริญพระพุทธมนต์ 1 หลัง สร้างศาลาดินขนาดกว้าง 4 วา ยาว 6 วา 2 ศอก 1 หลัง
              2.นางเอียม บ้านคลองประดู่ สร้างศาลาตรีมุขถวาย 1 หลัง
              3.นายมังกร นางสุดใจ สุนทรศ สร้างอาศน์สงฆ์เชื่อมติดกับศาลาการเปรียญ 1 หลัง
              4.สร้างโรงเรียนหนังสือไทยแบบเรือนโบราณติดกับศาลาการเปรียญ 2 หลัง
              5.จัดการเปลี่ยนกระเบื้องดินเผาที่มุงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำทุกหลัง เป็นกระเบื้องซีเมนต์
              6.สร้างบันไดก่ออิฐถือปูนสำหรับขึ้นลงตรงหน้าวัด 2 บันไดแฝดกับสร้างถนนตรงขึ้นศาลาดินด้วย
              7.ก่อถนนอิฐถือปูนจากศาลาการเปรียญไปสู่ศาลาท่าน้ำทางทิศเหนือ 1 สาย ไปศาลาตรีมุข 1 สาย และซ่อมถนนไปสุสานสถาน 1 สาย
              8.เจดีย์ที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดทั่วไป ได้มีการก่อสร้างสมัยนี้แทบทั้งสิ้น
              ในสมัยพระอธิการคงเป็นเจ้าอาวาส มีการก่อสร้างปฏิสังขรณ์และการศึกษาตามที่กล่าวมา ครั้นถึง พ.ศ.2468 ก็ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา

              ยุคพระอธิการเปลี่ยนเป็นเจ้าอาวาส
              พระภิกษุเปลี่ยน (ฉายแก้ว) สุวณฺณโชโต ชาติภูมิอยู่คลองประดู่ ในท้องที่ หมู่ 6 ตำบลวัดเพลง กิ่งอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ได้รับตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสสืบต่อมา ในยุคที่พระอธิการเปลี่ยนเป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการปลูกสร้างวางระเบียบกุฏิให้เข้าแถวสวยงามขึ้น บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่เจ้าอาวาส องค์ก่อนๆสร้างไว้ให้คงสภาพดีขึ้น กับได้ก่อสร้างเพิ่มเติมสิ่งจำเป็นขึ้นอีกดังกล่าวข้างหน้า นอกจากนี้ยังได้ให้ความอุปถัมภ์บำรุงการศึกษาทั้งสามัญศึกษา และศาสนศึกษาจนเป็นหลักฐานมั่นคง เรียกว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดการศึกษา อันมั่นคง แก่สำนักองค์แรกซึ่งเป็นอนุสรณ์อยู่จนทุกวันนี้ การก่อสร้างปฏิสังขรณ ์ และการศึกษาในสมัยที่พระอธิการเปลี่ยนเป็นเจ้าอาวาส คือ
              1. พ.ศ.2469 ได้ซ่อมแซมพระอุโบสถโดยรื้อผนังลงทั้งหมดแล้ววางรากผนังใหม่กว้างใหญ่กว่าเดิม ก่ออิฐถือปูนสูง 3 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา 1 คืบ ยาว 9 วา 2 ศอก พร้อมด้วยซุ้มประตู 4 ซุ้ม ซุ้มหน้าต่าง 10 ซุ้ม ติดช่อฟ้าใบระกาสำเร็จเรียบร้อยในปลายปี 2469 นั้นเอง
              2.นายปลั่ง นางโหมด บุญศรี เป็นผู้บริจาคทรัพย์สร้างกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้นอุโบสถ สร้างศาลาท่าน้ำคอนกรีต สร้างถนนคอนกรีต สร้างบันไดคอน - กรีต สร้างซุ้มประตูกุฏิคอนกรีต สร้างกุฏิเสเต็งรังพื้นและตัวไม้ทั้งหมดเป็นไม้สัก หลังคามุงกระเบื้อง 1 หลัง
              3. นายเถิม นางถนอม มณีหค บริจาคทรัพย์เหมาช่างปูนพื้นรอบพระอุโบสถและบูรณะกำแพงรอบพระอุโบสถ
              4. นายมังกร นางสุดใจ สุนทรศ บริจาคทรัพย์บูรณะถนนสายไปอุโบสถ 1 สาย ต่อหอเจริญพระพุทธมนต์อีก 2 ห้อง ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 3 ห้อง ให้เป็น 5 ห้อง สร้างส้วมซึม 1 หลัง มีชักโครกพร้อมทั้งสูบโยกน้ำสำหรับใช้ในห้องส้วม
              5. นางเจียว วรรณา ถวายเรือนฝากระดานทรงโบราณ เสาไม้เต็ง พื้นไม้แดง นอกนั้นไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง มาเป็นกุฏิ 1 หลัง
              6. นางผัน บ้านบางสำโรง ถวายเรือนปั้นหยา เสาไม้เต็ง พื้นไม้ตะเคียน นอกนั้นไม้สักล้วน ฝาเฟี้ยม หลังคามุงกระเบื้อง มาเป็นกุฏิ 1 หลัง
              7. นายแอ นางม่วย และนายสวน นางเน้ย น้อยศิริ รวมทุนร่วมสร้างถนนหน้าวัด 1 สาย สร้างท่าน้ำพร้อมด้วยบันไดคอนกรีต และโป๊ะลอย พร้อมด้วย รางเฆ่ 1 โป๊ะ
              8. นางเฟื้อ พรพานิช สร้างโรงเรียนประชาบาล 1 หลัง ทำเป็น 2 ชั้น กว้าง 7 เมตร ยาว 21 เมตร พื้นชั้นล่างไม้แดง บั้นบนไม้ยาง เสาคอนกรีต ฝาไม้สะเดาดง หลังคามุงกระเบื้อง
              9. พระครูเปลี่ยน ได้จัดสร้างสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้  สร้างบันไดก่ออิฐถือปูน  สำหรับขึ้นลงกุฏิ 2 บันได    สร้างบันไดสำหรับขึ้นลงศาลาการเปรียญ 1 บันได สร้างกุดังสำหรับเก็บศพ 1 หลัง สร้างเชิงตะกอนสำหรับเผาศพ 1 ที่ รื้อกุฏิที่สร้างไม่เข้าระเบียบ จัดสร้างให้เข้าระเบียบทั้งหมด กุฏิหลังใดมุงด้วยจาก ก็จัดเปลี่ยนมุงกระเบื้องทั้งหมด นอกจากการก่อสร้างดังกล่าวแล้ว ยังได้ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่ชำรุดให้คงคืนสภาพเดิมอีก และยังได้สร้างสิ่งของ ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น พรมปูในพระอุโบสถ ถ้วยชาม จาน ฯลฯ ไว้เป็นอันมาก นับการก่อสร้างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากในสมัยของท่านพระครูเปลี่ยน
              10. สำหรับตำแหน่งหน้าที่ส่วนตัวของท่านนั้น ท่านได้เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2468 เป็นเจ้าคณะตำบลหัวหาด วัดประดู่ พ.ศ.2470 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2481 และเป็นพระครูประทวน พ.ศ.2484 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านได้ป่วยเป็นโรคผอมแห้ง (วัณโรค) อยู่ประมาณเกือบ 10 ปี และในที่สุดท่านก็ถึงแก่มรณ ภาพลงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2464 คำนวณอายุได้ 47 ปี พรรษา 27

              ยุคพระครูสุนทรธรรมกิจ เป็นเจ้าอาวาส
              เมื่อพระครูเปลี่ยน สุวณฺณโชโต ถึงแก่มรณภาพลงแล้ว พระสุทธิสารวุฒาจารย์เจ้าคณะอำเภออัมพวาได้ประชุม พระภิกษุสามเณรในสำนักวัดแก้วเจริญ ตลอดถึงทายกทายิกาที่ขึ้นอยู่ในวัด หารือการจัดตั้งผู้รักษาการ ต่างพร้อมใจกันมอบให้พระภิกษุสุนทร ชินวํโส รักษาการในตำแหน่ง เจ้าอาวาสืบต่อไปและในขณะเดียวกันนี้พระสุทธิสารวุฒาจารย์ เจ้าคณะอำเภอ ได้มอบให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลสืบแทน ท่านพระครูเปลี่ยนอีกตำแหน่งหนึ่ง พระภิกษุสุนทร ชินวํโส ได้ดำรง ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และเจ้าคณะตำบล เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2484 อายุ 31 พรรษา 11 พระภิกษุสุนทร ชินวํโส รักษาการ เจ้าอาวาสเพียง 3 เดือนเศษ คือถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องอุปกรณ์การ ก่อสร้างทุกอย่าง ตลอด ถึงเครื่องอุปโภคบริโภค ขาด แคลน จึงมิได้มีการก่อสร้างสิ่งใดที่เป็นหลักฐานขึ้นเลย คงแต่เพียงดูแลซ่อมแซมเสนาสนะและถาวรวัตถุที่ชำรุด ให้อยู่ในสภาพดี และดำเนิน การศึกษาเจริญ รอยท่านพระครูเปลี่ยนตลอดมา นอกจากนี้ก็มี การปราบพื้นที่ดิน โดยขอแรงประชาชนมาช่วยกันขุดขนที่สูงถมที่ต่ำ อันเป็นหลุมเป็นบ่อมาแต่สมัยพระอธิการฟัก ทำอิฐให้เสมอเป็นพื้นที่แผ่นดินเดียวกันทั้งหมด ครั้นสงครามสงบเรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการก่อสร้าง ปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้า มาโดยตลอด โดยอาศัยศรัทธาจากศิษยานุศิษย์ และประชาชน ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาวัดให้เกิดสิ่งก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวก จนเป็นที่รู้จักเลื่องลือตราบเท่าปัจจุบัน  รายละเอียดเพิ่มเติม...

 

              ยุคพระครูสมุทรรัตนวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส
              นับแต่พระเดชพระคุณหลวงปู่หยอด ชินวํโส มีอาการอาพาธอยู่เนืองๆ ในช่วงปัจฉิมวัย ต้องเข้ารักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลมาโดยตลอด ตั้งแต่ ปลายปี พ.ศ.2536 ทำให้การดำเนินงานของวัดในส่วนต่างๆ ชะงักลง โดยเฉพาะงานการก่อสร้างหอ “ สุนทรธรรมกิจราษฎร์สังสรรค์ ” ซึ่งท่านกำหนดไว้เป็น หอสวดมนต์ หอระฆัง หอกลอง และหอฉันภัตตาหารของพระภิกษุสงฆ์ งานการสร้างกุฏิสงฆ์แนวทิศตะวันตกทรงไทยไม้สักทอง แบบเดียวกับกุฏิสงฆ์ด้าน ทิศตะวันออก และงานการคณะสงฆ์ที่ต้องประสานงานอย่างต่อเนื่อง พระเดชพระคุณได้มอบหมายให้พระเกษม อาภสฺสโร ดูแลงานของวัดสืบแทนในระหว่าง การพักรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลพญาไท 1 ครั้งสุดท้าย โดยแต่งตั้งให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 โดยลงนามแต่งตั้งในฐานะเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่เขต 1 ซึ่งนับเป็นความกรุณา ที่ได้ไว้วางใจในศิษย์ซึ่งพระเดช พระคุณ อุปสมบทให้ สร้างความซาบซึ้งใน เมตตาคุณแก่พระภิกษุเกษม อาภสฺสโร เป็นล้นพ้น และตั้งปฏิทาแน่วแน่ในอันจักตอบแทนพระคุณ ด้วยกตัญญู กตเวทิตาคุณให้ถึงที่สุด โดยได้สานงานต่อตามที่พระเดชพระคุณค้างไว้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว ตามลำดับในช่วงระยะ 1 ปี ยังเหลืองานรายละเอียด บางส่วน ก็จะสำเร็จลุล่วงดังที่พระเดชพระคุณมุ่งหวัง แต่ท่านก็ได้มรณภาพลงเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2541 ทำให้ต้องพักการก่อสร้างด้านรายละเอียด เพื่อจัดงาน บำเพ็ญกุศลศพพระเดชพระคุณตลอดช่วง 100 วัน ด้วยวิริยะอุตสาหะตอบแทนพระคุณให้ถึงที่สุด และได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ ดูแลกิจการงาน ของวัด สืบแทนพระเดชพระคุณจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2553  รายละเอียดเพิ่มเติม...

             สิ่งสำคัญภายในวัดที่ควรชม และนมัสการได้แก่
             1. พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่มากับวัด ไม่มีพระนามปรากฎแกะสลักด้วยศิลาแดง
             2. พระพุทธรูปอื่น ๆ ในอุโบสถ เป็นของเก่าไม่น้อยกว่า 10 องค์ ขนาดต่าง ๆ กัน เป็นพระพุทธรูปศิลาแดงทุกองค์
             3. พระพุทธรูปนอกอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลาแดงทั้งสิ้น ปางต่าง ๆ อันได้แก่ ปางป่าเลไลย์ ปางไสยาสน์ และปางมารวิชัย
             4. กุฏิสงฆ์ และหอฉัน เป็นเรือนไทยมีระเบียบสวยงามมาก
             5. พิพิธภัณฑ์เรือชนิดต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 40 ลำ

      

ภาพขยาย...   ภาพขยาย...   ภาพขยาย...

ภาพขยาย...   ภาพขยาย...   ภาพขยาย...

ภาพขยาย...   ภาพขยาย...   ภาพขยาย...

 

 

 

 
      ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซต์ " วัดแก้วเจริญ " และขอเชิญมากราบสรีระหลวงปู่หยอด ชินวํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เกจิแห่งลุ่มน้ำแม่กลองอันโด่งดัง ผู้สร้างไหมห้าสีเบญจรงค์อันเลื่องชื่อ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัวครับ.....